top of page

ความปลอดภัยในการใช้งานห้องเย็น และแนวทางป้องกันอันตรายจากสารทำความเย็นรั่วไหล

Article Banner 12-01.jpg

สำหรับการใช้งานห้องเย็นนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของหลาย ๆ ธุรกิจ ทั้งผู้ผลิตรายใหญ่ ผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องด้วยประเทศไทยมีอุณหภูมิที่ร้อน การผลิต การจัดเก็บจึงต้องอาศัยห้องที่สามารถกำหนดอุณหภูมิให้เหมาะสมกับวัตถุดิบ สินค้านั้น ๆ ซึ่งอุณหภูมิส่วนใหญ่จึงเป็นอุณหภูมิที่ติดลบ จึงอาจเกิดอันตรายกับผู้ปฏิบัติงานได้ รวมถึงอันตรายอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่นการรั่วไหลของสารทำความเย็น ในบทความนี้จึงรวบรวมถึงแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อการใช้งานห้องเย็นให้ปลอดภัย

อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อทำงานในห้องเย็น มีดังนี้

 

1. อุบัติเหตุเนื่องจากคนถูกขังติดอยู่ในห้องเย็น

1.1. ความเย็น ทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อ (Cold Burn)  คือ เกิดผลึกน้ำแข็งในเซลล์ของเนื้อเยื่อที่ถูกความเย็น มีการทำลายระบบไหลเวียนในหลอดเลือดฝอย ซึ่งการอุดตันที่เกิดขึ้นจากระบบไหลเวียนเลือดนี้ไม่อาจกลับคืนดีได้ดังเดิมแม้เนื้อเยื่อจะได้รับความอุ่นเป็นปกติแล้วก็ตาม

                        - ผลของความเย็นต่อร่างกายเฉพาะที่ เช่น  ผิวแห้งและแตก , chilblain or pernio , Immersion foot or trench foot

                        - การบาดเจ็บจากความเย็นชนิดรุนแรง เช่น  Frostnip ,  Frostbite

2.2 ความเย็น ทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง (Hypothermia)

                 การที่อุณหภูมิร่างกายลดลงนั้นจะทำให้การทำงานของสมองช้าลง การตัดสินใจช้า หรือหมดความรู้สึก และเสียชีวิตในที่สุด อาการเตือนในระยะแรกๆ  จะมีการเจ็บปวดที่ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า  แสดงถึงอันตรายของความเย็น ในระหว่างที่มีการสัมผัสกับความเย็น ผู้เขียนเคยพบว่าบางโรงงานมีคนที่เกิดอาการเจ็บปลายนิ้วเกือบ 30 คน แต่ จป.วิชาชีพ ไม่เคยรู้เลย !!! และเมื่อเกิดการสั่นอย่างรุนแรงจะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิในร่างกายลดลงถึง 35◦C ถือได้ว่าบอกอันตรายที่จะเกิดขึ้นจึงควรให้หยุดการสัมผัสความเย็นทันที

มาตรการป้องกันไม่ให้มีผู้ปฏิบัติงานหรือบุคคลอื่น ๆ ถูกขังติดอยู่ในห้องเย็น

-เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่เข้าไปภายในห้องเย็นได้

-มีป้าย ห้ามผู้ไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปข้างใน ติดเตือนอยู่หน้าประตูทางเข้าห้องเย็น

-มีทางออกฉุกเฉินอย่างน้อย 1 ทาง, มีป้ายเตือนบอกทางในจํานวนที่เพียงพอ และไม่มีวัตถุใด ๆ กีดขวางทางออกฉุกเฉิน

-มีสัญญาณเตือนภัยสําหรับให้ผู้ที่ติดในห้องเย็นใช้แจ้งให้ผู้อยู่ข้างนอกทราบว่ามีคนติดอยู่ในห้องเย็น ระบบควรทํางานโดยมีแบตเตอรี่สํารอง มีป้ายบอกและติดตั้งสัญญาณเตือนในตําแหน่งที่เหมาะสม

-มีไฟฉุกเฉิน ที่ทํางานด้วยระบบแบตเตอรี่สํารอง

-มีการบํารุงรักษาและทดสอบอุปกรณ์ระบบความปลอดภัย

-ก่อนที่จะล๊อกประตูต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดทุกครั้ง

2. อุบัติเหตุจากสารทำความเย็นรั่วไหลของห้องเย็น

การรั่วไหลของสารทำความเย็นที่เป็นแอมโมเนีย เป็นปัญหาที่พบค่อนข้างบ่อยสำหรับระบบทำความเย็นในโรงงาน

สารทำความเย็นที่เป็นชนิดสารแอมโมเนีย จะมีความเป็นสารพิษและมีความอันตรายสูงเมื่อไหลออกมาสู่ภายนอกจากอุปกรณ์ทำความเย็น เมื่อมีการรั่วไหล จะเริ่มส่งกลิ่นฉุนและผู้ที่สูดดมจะเกิดการระคายเคืองที่ระบบหายใจ เมื่อมีการสัมผัสโดยตรงที่ผิวหนังก็จะเกิดการไหม้ของผิวหนังอย่างรุนแรงหรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

พิษของสารทำความเย็น แอมโมเนีย ที่มีต่อสุขภาพ

– แอมโมเนียมีฤทธิ์กัดกร่อน และทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังที่สัมผัส

– หากสูดดมเพียงเล็กน้อยจะทำให้น้ำตาไหล

– หากสูดดมมากจะออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ เสี่ยงต่อหัวใจวายได้ง่าย

– การสูดดมเข้าระบบทางเดินหายใจจะทำให้เกิดการระคายเคืองเนื้อเยื่อ มีอาการแสบร้อน

– การสัมผัสกับแอมโมเนียเข้มข้นทำให้เกิดเวียนศีรษะ ตาลาย และเกิดอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง

ผลการสัมผัสแอมโมเนียของมนุษย์ (พรลภัสส์ กลับสมบูรณ์, 2555)4

– ความเข้มข้น 5 ppm : บางคนอาจสัมผัสกลิ่นได้

– ความเข้มข้น 25 ppm : บางคนอาจสัมผัสกลิ่นได้ สามารถทำงานได้ตลอด 8 ชั่วโมง

– ความเข้มข้น 35 ppm : คนส่วนใหญ่อาจสัมผัสกลิ่นได้ สามารถทำงานได้ในระยะสั้น 15 นาที

– ความเข้มข้น 50-100 ppm : คนส่วนใหญ่อาจสัมผัสกลิ่นได้ ทนต่อกลิ่นได้นานสูงสุด 2 ชั่วโมง สำหรับคนที่ไม่เคยรับกลิ่น

– ความเข้มข้น 400 ppm : ระคายเคืองปานกลางต่อตา จมูก และลำคอ หากสัมผัสที่ 0.5-1 ชั่วโมง ยังไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้บาดเจ็บรุนแรง

– ความเข้มข้น 1,000-2,000 ppm : ทำให้ระคายเคือง และไออย่างรุนแรง มีอาการแสบที่ตา จมูก และลำคอ สามารถทำลายเนื้อเยื่อตา จมูก อวัยวะในระบบทางเดินหายใจ หากสัมผัสนาน 30 นาที

– ความเข้มข้น 3,000-4,000 ppm : ทำให้ระคายเคือง และไออย่างรุนแรง มีอาการแสบที่ตา จมูก และลำคอ สามารถทำให้เสียชีวิตได้ใน 30 นาที

– ความเข้มข้น 5,000-12,000 ppm : เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหัวใจ เกิดภาวะขาดออกซิเจนอย่างเฉียบพลัน สามารถทำให้เสียชีวิตได้ในไม่กี่นาที

การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับพิษจากสารทำความความเย็น แอมโมเนีย

ขั้นแรกนําผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีก๊าซแอมโมเนียไปอยู่บริเวณที่มีการระบายอากาศที่ดีและอยู่ทิศทางเหนือลมกรณีได้รับแอมโมเนียทางจมูก ถ้าหยุดหายใจให้ผายปอด ปั๊มหัวใจและรักษาระดับอุณหภูมิร่างกายผู้ป่วยให้อยู่ในภาวะปกตินําส่งแพทย์โดยเร็ว ถ้าผู้ป่วยหายใจอ่อนหรือไอรุนแรงหายใจไม่สะดวกควรให้ออกซิเจน  2  นาทีกรณีสัมผัสทางผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดมาก ๆ นาน ๆ โดยน้ำไหลผ่านเสื้อและรองเท้าที่เปื้อนให้ถอดขณะล้างน้ำไหลผ่าน ไม่ควรถอดออกก่อนถูกน้ำรักษาร่างกายผู้ป่วยให้อบอุ่นขณะนําส่งแพทย์ กรณีแอมโมเนียเข้าตาล้างด้วยน้ำสะอาดไหลผ่านให้ทั่วถึงทั้งด้านในเปลือกตาบนเปลือกตาล่างนาน 15 นาทีแล้วล้างซ้ำทุก 10 นาทีในรอบระยะเวลา 1 ชม. โดยแต่ละครั้งที่ล้างซ้ำนาน 5 นาทีหากมีบอริคแอซิด 5% สามารถใช้ล้างแทนน้ำได้โดยวิธีการล้างแบบเดียวกันนําผู้ป่วยส่งจักษุแพทย์ กรณีได้รับแอมโมเนียทางปาก ถ้าผู้ป่วยมีสติให้ดื่มน้ำมาก ๆ หรือถ้ามีน้ำส้มคั้น น้ำมะนาวให้ดื่มพร้อมน้ำ นําผู้ป่วยส่งแพทย์โดยเร็ว

สาเหตุของการรั่วไหลสารทำความความเย็น แอมโมเนีย

การรั่วไหลของสารทำความเย็นส่วนใหญ่มักเกิดจากการชำรุดของอุปกรณ์ หรือหมดอายุการใช้งานแล้ว ทำให้สารทำความเย็นที่ทำงานอยู่ภายในอุปกรณ์ทำความเย็นรั่วไหลออกตามจุดที่มีการผุกร่อน นอกจากนี้การรั่วไหลยังเกิดขึ้นได้จากการติดตั้งอุปกรณ์วาล์วกันกลับผิดทาง (Check Valve) ทำให้ของเหลวในระบบเกิดการขยายตัวจนเกิดการรั่วไหล

การแก้ไขเมื่อเกิดการรั่วไหลของสารทำความเย็นที่เป็นแอมโมเนีย

เมื่อพบว่ามีการรั่วไหลของสารทำความเย็นที่เป็นแอมโมเนีย ควรทำการป้องกันไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายหรือถูกผิวหนัง และทำตามข้อควรปฏิบัติดังนี้

• หากเกิดการรั่วในด้านดูดให้เดินเครื่องเพื่อให้เกิดแรงดันในระบบต่ำที่สุด หรือให้กลายเป็นสุญญากาศ

• หากเกิดการรั่วทางด้านส่งให้หยุดเดินเครื่องแล้วทำการปิดวาล์วสกัด

• ในบริเวณที่มีการรั่วของสารแอมโมเนียให้ใช้ผ้าหรือกระสอบซับน้ำคลุมเอาไว้ ก่อนทำการฉีดน้ำเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของสารแอมโมเนีย

• ทำการระบายอากาศในบริเวณโดยรอบที่มีการรั่วไหลให้เร็วที่สุด ถ้าหากเป็นพื้นที่ปิดให้ใช้สเปรย์ฉีดน้ำในบริเวณที่รั่วไหลเพื่อดูดซับสารแอมโมเนีย

• ทำการซ่อมชั่วคราวเพื่อใช้งาน และในขณะที่ทำการซ่อมต้องเช็คให้ดีว่ามีสารแอมโมเนียค้างอยู่ภายในท่อหรือไม่

• ทำสุญญากาศคอนเดนเซอร์

มาตรการป้องกันการรั่วไหลของสารทำความเย็น

-ซ่อมบํารุง และควบคุมการทํางานของห้องเย็นโดยผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกมาเป็นอย่างดี

-โรงงานที่มีห้องเย็นขนาดใหญ่จะต้องมีแผนงานในแต่ละช่วงเวลา ในการตรวจสอบห้องเย็นโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งในส่วนของอุปกรณ์และระบบท่อ ที่อาจจะทําให้เกิดอันตรายหากชํารุด

-มีแผนฉุกเฉินในกรณีเกิดอุบัติเหตุ และสื่อสารให้ทุกคนรับทราบการทํางานในสภาพพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ

-จัดหาชุดป้องกันความเย็นที่เหมาะสม

-จัดให้มีห้องพักที่มีสภาพอากาศปกติ กับน้ำอุ่น สําหรับพักเบรก ส่วนระยะเวลาในการพักขึ้นอยู่กับ อุณหภูมิของห้องเย็นและลักษณะงาน

3. การบาดเจ็บจากความเย็น อันตรายจากน้ำแข็งที่เกิดขึ้น

เมื่อคนเข้าไปทำงานในห้องเย็นเป็นเวลานานๆ ความเย็นจัดก็จะสามารถทำให้เส้นเลือดฝอยตีบเล็กลง ส่วนใหญ่พบมากบริเวณปลายมือ , ปลายเท้า , จมูก , ใบหู เป็นต้น ถ้าอาการเพียงเล็กน้อย ก็จะมีอาการปรากฏบริเวณใบหู , จมูก , นิ้วมือ , เท้า มีลักษณะแดง , ร้อนตึง และปวด ถ้าถูกความเย็นจัดเป็นเวลานาน เส้นเลือดจะตีบตัน เกิดการตายของอวัยวะบริเวณที่ขาดเลือดไปเลี้ยง

มาตรการป้องกันอันตรายสำหรับการทำงานในห้องเย็น

- จัดหาชุดป้องกันความเย็นที่เหมาะสม

- จัดให้มีห้องพักที่มีสภาพอากาศปกติ กับน้ำอุ่น สำหรับพักเบรก ส่วนระยะเวลาในการพักขึ้นอยู่กับ อุณหภูมิของห้องเย็นและลักษณะงาน

- ผู้ที่ทำงานในห้องเย็นต้องมีร่างกายที่แข็งแรง จะต้องจัดให้มีการตรวจร่างกายผู้ที่จะต้องทำงานในห้องเย็นก่อนเสมอ

- สะเก็ดน้ำแข็ง หรือน้ำแข็งที่เกิดขึ้น จะต้องจัดเก็บออกไปทุกวัน

- อุปกรณ์ที่ใช้งานในห้องเย็นควรจัดให้มีการตรวจสอบให้อยู่ในสภาพที่ไม่อันตราย

บทความแนะนำ

Picture 4.jpg

เปลี่ยนห้องในบ้าน
ให้เป็นห้องเย็นขนาดเล็ก

สำหรับใครที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจและต้องการสร้างห้องสำหรับจัดเก็บสินค้าด้วยระบบทำความเย็น คุณสามารถเปลี่ยนห้องในบ้านให้เป็นห้องเย็น

Picture1e42.png

Main Components

อุปกรณ์หลักในระบบทำความเย็นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และถูกแบ่งประเภทออกอย่างไร สามารถกดอ่านเพิ่มเติมได้เลยครับ

Picture%201_edited.jpg

ก่อนติดตั้งห้องเย็น
ต้องพิจารณาอะไรบ้าง

ทำความรู้จักประเภทห้องเย็น ห้องแช่แข็ง เลือกติดตั้งกับผู้ที่เชี่ยวชาญ ระบบ ห้องเย็น ห้องแช่แข็งและอุปกรณ์ต่างๆภายในห้อง

bottom of page