วิธีเพิ่มประสิทธิภาพ “คอมเพรสเซอร์” ของระบบทำความเย็นวิธีเพิ่มประสิทธิภาพ “คอมเพรสเซอร์” ของระบบทำความเย็น
คอมเพรสเซอร์ (Compressor) เป็นอุปกรณ์หลักในระบบทำความเย็น และเป็นตัวช่วยขับดันแก๊สในระบบปิดรูปแบบหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ถึง 70% มีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานของ Compressor ในระบบทำความเย็น เช่น ประเภท รุ่น ขนาด อัตรากำลังมอเตอร์ การออกแบบระบบ กลไกการควบคุม การใช้งาน และการบำรุงรักษา รวมถึงการปรับปรุงการออกแบบระบบ ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
1. ปรับเปลี่ยนการเดินท่อสารทำความเย็นของ คอมเพรสเซอร์
ปรับการเดินท่อให้ตรงมากขึ้น การเดินท่อระยะไกล ๆ หรือโค้งงอมาก ๆ จะทำให้เกิดแรงเสียดทานสูงขึ้น นั่นหมายความว่าคอมเพรสเซอร์ต้องใช้แรงขับดันมากขึ้น การออกแบบระบบท่อที่ดี โดยลดแรงเสียดทาน จะส่งผลทำให้ใช้พลังงานน้อยลง
2. ปรับเปลี่ยนระบบส่งกำลังของ คอมเพรสเซอร์
การส่งถ่ายกำลังจากมอเตอร์ ไปขับคอมเพรสเซอร์ โดยมีอุปกรณ์ในการส่งกำลังไปขับในแต่ละรูปแบบจะมีประสิทธิภาพในการส่งกำลังไม่เท่ากัน ควรพิจารณา และเลือกอุปกรณ์ระบบส่งกำลังให้เหมาะสม จะช่วยลดการสูญเสียพลังงาน จากการส่งถ่ายกำลัง
3. เลือกจุดระบายความร้อน เพื่อลดความร้อนสะสมของ คอมเพรสเซอร์
อากาศเย็นจะทำให้อุณหภูมิด้านระบายความร้อนของคอมเพรสเซอร์มีอุณหภูมิต่ำลง จะส่งผลทำให้พลังงานที่ใช้ในการอัดน้อยลง หากเราสามารถลดอุณหภูมิลงได้ 6-7 องศาเซลเซียส ก็จะสามารถลดต้นทุนได้เกือบ 3.8%
4. ปรับใช้คอมเพรสเซอร์ขนาดเล็กลง แต่ใช้หลายตัว
การใช้คอมเพรสเซอร์ขนาดเล็กหลายตัว จะให้ประสิทธิภาพดีกว่าการใช้คอมเพรสเซอร์ขนาดใหญ่ตัวเดียว เนื่องจากการใช้พลังงานในการขับต่อตัวน้อยกว่า ในขณะที่ภาระโหลดน้อย การใช้คอมเพรสเซอร์ขนาดเล็ก สามารถหยุดการทำงานบางตัวได้ เพื่อให้เหมาะสมกับภาระโหลดต่ำสุด (Minimum Load) จะทำให้ประหยัดพลังงานมากกว่า ใช้คอมเพรสเซอร์ขนาดใหญ่
5. การนำความร้อนที่ระบายทิ้งไปของคอมเพรสเซอร์ เอากลับมาใช้
การนำพลังงานความร้อนซึ่งถูกทิ้งไปของคอมเพรสเซอร์กลับมาใช้ เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการอุตสาหกรรม เป็นการกู้กลับคืนพลังงานมาในรูปแบบหนึ่ง โดยใช้อุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน (Heat Recovery) เพื่อดึงความร้อนบางส่วนกลับมาใช้ โดยมีวัตถุประสงค์บางอย่างที่ต้องการ เช่น เอากลับมาใช้ทำน้ำร้อน
6. เลือกชนิดของสารทำความเย็น ในระบบให้เหมาะสม
คอมเพรสเซอร์ในระบบทำความเย็น มีช่วงอุณหภูมิใช้งานกว้าง ตั้งแต่ อุณหภูมิ +18C ไปจนถึง -60C และตัวสารทำความเย็นที่ใช้ในระบบมีคุณสมบัติในการเก็บกักความร้อนแต่ละชนิดไม่เท่ากัน บางชนิดทำงานได้ดีที่อุณหภูมิสูง บางชนิดทำงานได้ดีที่อุณหภูมิต่ำ การเลือกสารทำความเย็นที่เหมาะสม จะช่วยทำให้คอมเพรสเซอร์ ใช้พลังงานน้อยลง
สรุป
การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบทำความเย็นโดยการปรับเปลี่ยนคอมเพรสเซอร์เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และสิ่งที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอตรวจเช็คและบำรุงรักษาก็เป็นสิ่งสำคัญ หากท่านมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทำความเย็นหรือคอมเพรสเซอร์ สามารถสอบถามทีมงาน คูลอินโนเทค ได้ครับ